ปัจจุบันท่าเรือฮ่องกงยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องท่ามกลางกระแสการแข่งขันของท่าเรือระดับโลกและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยในปี 2561 ปริมาณการขนถ่ายสินค้าของท่าเรือฮ่องกงลดลงมาอยู่ที่ 19.64 ล้าน TEUs (Twenty-Foot Equivalent Unit) จากเดิม 21 ล้าน TEUs หรือลดลงร้อยละ 5.4 ในขณะที่ท่าเรือเซี่ยงไฮ้มีปริมาณการขนถ่ายสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 ท่าเรือกว่างโจวร้อยละ 7.1 และท่าเรือปูซานของเกาหลีใต้ร้อยละ 5.8 ส่งผลให้ท่าเรือฮ่องกงตกมาอยู่อันดับ 7 จากอันดับที่ 5 ของท่าเรือที่มีปริมาณการขนถ่ายสินค้ามากที่สุดในโลก ตามหลังท่าเรือที่เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ เซินเจิ้น หนิงโป ปูซาน และกว่างโจว และคาดว่าภายในสิ้นปี 2562 ท่าเรือชิงต่าวจะแซงหน้าท่าเรือฮ่องกงขึ้นมาเป็นอันดับ 7 ทั้งนี้ อาจเนื่องจากเหตุผลและความท้าทายต่าง ๆ ดังนี้
(1) การแข่งขันการลงทุนท่าเรือที่สูงขึ้น รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของจีนได้ลงทุน ปรับปรุงท่าเรือต่าง ๆ ในแผ่นดินใหญ่เพื่อให้สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ได้ ทำให้ท่าเรือต่าง ๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่สามารถนำเข้าและส่งออกสินค้าได้โดยตรงกับต่างประเทศ โดยไม่ต้องผ่านท่าเรือฮ่องกงอีกต่อไป นอกจากนั้น ท่าเรือในจีนแผ่นดินใหญ่ สิงคโปร์ และปูซาน ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ท่าเรือฮ่องกงบริหารงานโดยภาคเอกชน จึงอาจทำให้มีข้อจำกัดในการบริหารท่าเรือ
(2) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน และส่งผลกระทบต่อ เศรษฐกิจโลกและอาจส่งผลให้บริษัทของจีนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือคู่แข่งของฮ่องกง เช่น ท่าเรือสิงคโปร์และท่าเรือตันจุงเปเลพาส (Tanjung Pelepas) ของมาเลเซีย ซึ่งก็จะทำให้ท่าเรือฮ่องกงตกอยู่ในฐานะที่ลำบากมากขึ้น
(3) การใช้เทคโนโลยีโลจิสติกส์ ปัจจุบันท่าเรือในจีนแผ่นดินใหญ่มีการใช้ระบบอัตโนมัติในการ ควบคุม/ขนส่งมากกว่าท่าเรือฮ่องกง ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วของจีนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของท่าเรือ ในจีนแผ่นดินใหญ่
(4) ค่าบริการ/ค่าธรรมเนียมการจอดเรือค่อนข้างสูง ท่าเรือฮ่องกงเก็บค่าธรรมเนียมสูงถึง 2,140 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อ 1 TEU ซึ่งมากกว่าท่าเรืออันดับ 1 อย่างท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีค่าธรรมเนียมเพียง 974 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อ 1 TEU
(5) จำนวนแรงงานที่มีน้อย ซึ่งแตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีแรงงานเพียงพอต่อความ ต้องการและฮ่องกงไม่สามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่มาทำงานในอุตสาหกรรมการขนส่งทางเรือได้ ดังนั้นแรงงานส่วนใหญ่ก็จะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50 ปี
(6) ข้อจำกัดของพื้นที่ ด้วยขนาดของท่าเรือฮ่องกงที่มีขนาดเล็ก เพียง 279 เฮกตาร์ จึงเป็นอีก หนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนา/ขยายท่าเรือฮ่องกง
* * * * *