รัฐมนตรีกระทรวงกิจการทางทะเล และประมงอินโดนีเซีย "นายชารีฟ ซี. สุตาร์โจ" บอกว่า อินโดนีเซียกลายเป็นผู้ผลิตไข่มุกทะเลใต้ หรือเซาท์ซี รายใหญ่สุดมาตั้งแต่ปี 2548 ครองส่วนแบ่งการผลิตไข่มุกโลกถึง 50% และมีมูลค่าการส่งออกทะลุ 29 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม แม้อินโดนีเซียจะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดของโลก แต่อุตสาหกรรมไข่มุกของอินโดนีเซียยังไม่สามารถครอบครองตลาดโลกได้ ซึ่งนายสุตาร์โจตั้งข้อสังเกตว่า ไข่มุกทะเลใต้จากอินโดนีเซีย ยังไม่ได้รับความนิยมในระดับโลก ทั้ง ๆ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงมาก
ข้อเท็จจริงนี้ ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียตัดสินใจจับมือกับภาคเอกชนเปิดตัวโครงการริเริ่ม ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมไข่มุก หนึ่งในนั้นคือการจัดเทศกาลไข่มุกอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคมนี้ที่กรุงจาการ์ตา เพื่อแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมไข่มุกต่อภาคธุรกิจ
อินโดนีเซียมีศูนย์กลางการผลิตไข่มุกทะเลใต้อยู่ในน่านน้ำหลายจังหวัด ทั้งที่เกาะบาหลี นูซาเต็งการาตะวันตก โดยเฉพาะหมู่เกาะลอมบ็อก และหมู่เกาะซัมบาวา รวมทั้งในสุลาเวสี โมลุกกะ ปาปัว และอีกหลายพื้นที่
สุลาเวสี หนึ่งในศูนย์กลางการผลิตสำคัญ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพอย่างมากในการเพาะเลี้ยงไข่มุก ส่วนที่จังหวัดโกรอนตาโล หน่วยงานบริหารท้องถิ่นได้มองหาความร่วมมือจากญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาศูนย์กลางการผลิตไข่มุก
ผู้ช่วยนายอำเภอโกรอนตาโลเหนือ "นายรอนี อิมราน" กล่าวว่า สภาเศรษฐกิจเอฮิเมะแห่งญี่ปุ่นเสนอความช่วยเหลือในการพัฒนาอุตสาหกรรมไข่มุกในอำเภอนี้ หากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงไข่มุกร่วมมือกันรักษาสภาพแวดล้อม เพื่อให้ไข่มุกปลอดจากการปนเปื้อน
อธิบดีกรมตลาดผลิตภัณฑ์ประมงและการแปรรูป "นายซาอุต พี. ฮูตากาลุง" อธิบายว่า ตลาดไข่มุกโลกถูกควบคุมโดยไข่มุกสี่ชนิด ได้แก่ มุกเซาท์ซีผลิตโดยอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และพม่า มุกน้ำจืดผลิตโดยจีน มุกอาโกยาผลิตโดยญี่ปุ่นและจีน และไข่มุกดำผลิตโดยตาฮิติ ส่วนไข่มุกอินโดนีเซียนั้นส่งออกไปยังญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไทย สวิตเซอร์แลนด์ อินเดีย นิวซีแลนด์ และฝรั่งเศส
ดังนั้นรัฐบาลอินโดนีเซียโดยกระทรวงกิจการทางทะเลและสัตว์น้ำจะเดินหน้าส่งเสริมมุกเซาท์ซีอินโดนีเซียต่อไป เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพจาก : www.thaibiz.net