การที่มาเลเซียสนใจที่จะร่วมมือกับประเทศไทยในเรื่องนี้ ก็เพราะมาเลเซียมองเห็นอนาคตของฮาลาล และได้กำหนดให้การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ในการพัฒนา ประเทศมาเลเซียมีจุดแข็งในแง่ที่เป็นประเทศมุสลิมชั้นนำของโลก ประสบความสำเร็จในหลาย ๆ ด้านและเป็นที่ชื่นชมของโลกมุสลิม แต่ขณะเดียวกัน มาเลเซียก็มีจุดอ่อน ในแง่ที่มิได้เป็นชาติผู้ผลิตสินค้าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ พูดง่าย ๆ คือ มาเลเซียขาด "วัตถุดิบ" เพราะเหลือภาคการเกษตรหลักเฉพาะปาล์มน้ำมันและยางพารา
ดังนั้น เมื่อหันมาดูประเทศไทย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกันและเป็นชาติผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก มาเลเซียจึงเห็นประเทศไทยว่าน่าจะเป็นหุ้นส่วนที่ดีของตน
คนเหล่านี้เห็นว่า จริง ๆ แล้ว ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าฮาลาลตรงไปยังผู้บริโภคในประเทศมุสลิมต่าง ๆ ได้อยู่แล้ว ดังจะเห็นได้ว่าแม้มิใช่ประเทศมุสลิม ปัจจุบันประเทศไทยนั่นเป็นผู้ส่งออกสินค้า ฮาลาลใหญ่เป็นอันดับที่ 13 ของโลก และบรรดาประเทศส่งออกสินค้าฮาลาลใหญ่ ๆ ของโลก ก็ล้วนแต่เป็นประเทศ ที่มิใช่มุสลิม (เช่น บราซิล สหรัฐฯ และอินเดีย)
คนที่มองเช่นนี้จะคิดว่าการไปร่วมกับมาเลเซียจะเท่ากับเป็นการ "จ่ายค่าหัวคิว" ให้กับมาเลเซีย ซึ่งเป็นการเสียประโยชน์โดยไม่จำเป็น
พูดง่าย ๆ ก็คือ เราคิดว่ามาเลเซียมิใช่หุ้นส่วน (partner) หากแต่เป็นคู่แข่ง (competitor) ของประเทศไทย
ประมาณการณ์ว่าในปัจจุบัน มูลค่าตลาดฮาลาลทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีศักยภาพที่จะขยายตัวอีกมาก
ดังนั้น เมื่อฮาลาลเป็นกลุ่มสินค้าที่หอมหวานน่าสนใจ หลายประเทศต่างก็พยายามขับเคลื่อนองคาพยพของตน เพื่อเข้าครอบครองตลาดนี้ให้ได้มากที่สุด การแข่งขันในเรื่องฮาลาลจึงมีความเข้มข้น หลายประเทศจึงมองคู่แข่งเป็นคู่แข่ง จนบ่อยครั้งได้มองข้ามไปว่าคู่แข่งก็สามารถเป็นหุ้นส่วนได้ ซึ่งในความเห็นของผู้เขียน มาเลเซียน่าจะเป็นกรณีตัวอย่างได้
ประการแรก
ต้องยอมรับว่าความเป็นประเทศมุสลิมชั้นนำนั้น เป็นใบเบิกทาง (credential) ที่สำคัญของมาเลเซีย มาเลเซียไม่ต้องทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากเท่าประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศที่มิใช่มุสลิม จริงอยู่ที่ผู้บริโภคหลายคนในประเทศมุสลิมอาจจะไม่ได้เคร่งครัดยึดมั่นในเรื่องสินค้าฮาลาลมากนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่า คนมุสลิมที่เคร่งครัดก็มีเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นเรื่อย ๆ คนเหล่านี้ต้องการความมั่นใจว่าสินค้าเป็นฮาลาลที่แท้จริง
พูดง่าย ๆ ผู้บริโภคหลายคนในประเทศมุสลิมจะมั่นใจในความเป็นฮาลาลของสินค้าที่ผลิตจากประเทศมุสลิมมากกว่าสินค้าที่ผลิตจากประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม
ประการที่สอง
จริงอยู่ที่ว่าประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม เช่น ประเทศไทย ก็สามารถที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้เช่นกัน แต่ความมั่นใจดังกล่าวต้องอาศัยการโฆษณาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรฐาน ฮาลาลอยู่มากและต้องมากกว่าประเทศมุสลิมเช่นมาเลเซีย
คำถามก็คือ ประเทศไทยได้ทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องมาตรฐานฮาลาลของตนเองในประเทศมุสลิมและกับผู้บริโภคมุสลิมมากน้อยขนาดไหน ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการฮาลาลของประเทศไทยคงทราบดี ประเด็นมิได้อยู่ที่ว่าประเทศไทยมีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลระดับโลกหรือตราฮาลาลของไทยออกโดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยซึ่งมีมาตรฐานสูงมาก แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทำการประชาสัมพันธ์มากน้อยขนาดไหน
ประการที่สาม
ไม่ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการสร้างอุตสาหกรรมฮาลาลมาก น้อยเพียงใด แต่การที่มาเลเซียจะซื้อวัตถุดิบจากประเทศไทยเพื่อไปส่งออก (re-export) หรือไปแปรรูป แล้วติดตรา ฮาลาลของมาเลเซีย น่าจะมองได้ว่าเป็นผลประโยชน์เสริม (added benefit) ของประเทศไทย เป็นการช่วยให้ ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าฮาลาลได้มากขึ้น นอกเหนือจากที่ประเทศไทยส่งออกตรงไปยังประเทศที่สาม
เรื่องนี้ก็ไม่แตกต่างจากที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ ซื้อสินค้าไปจากประเทศไทยแล้วนำไปส่งออกอีกทอดหนึ่ง โดยทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลาง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็มิได้มีข้อขัดข้องในเรื่องดังกล่าว คำถามคือถ้ามาเลเซียกระทำอย่างเดียวกันสำหรับสินค้าฮาลาล เหตุใดประเทศไทยจึงจะมีข้อขัดข้อง
ประการที่สี่
ความร่วมมือกับมาเลเซียในเรื่องฮาลาลจะก่อประโยชน์มากต่อการพัฒนาภาคใต้ รวมทั้งต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
การร่วมมือกับมาเลเซียจะช่วยให้ไทยส่งออกสินค้าไปยังมาเลเซีย เพื่อการส่งออก (re-export) หรือเพื่อการแปรรูปเพิ่มเติม ช่วยดึงการลงทุนจากมาเลเซียเข้ามาในประเทศไทย เพราะประเทศไทยยังมีความได้เปรียบในเรื่องวัตถุดิบ แรงงาน และต้นทุนการผลิตโดยรวมที่ยังต่ำกว่ามาเลเซีย ซึ่งก็จะเป็นการสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชนในภาคใต้ และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาความไม่สงบ
ประการสุดท้าย
ในเชิงยุทธศาสตร์ ความร่วมมือกับมาเลเซียในเรื่องที่สำคัญทางเศรษฐกิจมากเช่นนี้จะเป็นการผูก (bind) ทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน ช่วยการเสริมความตระหนักในผลประโยชน์ที่ทั้งสองประเทศมีอยู่ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ในภาพรวม ทำนองเดียวกับความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ทางทะเลร่วมกัน (Joint Development Area - JDA) ซึ่งดำเนินมาด้วยดียิ่งตลอด 20ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือด้านฮาลาลจะเป็นการสร้างเสาใหม่ที่ช่วยค้ำยันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง
บทความโดย :
ดำรง ใคร่ครวญ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
ดวงตา ทองสกุล และอภิษฎา คุณาพรธรรม ข้าราชการ นปร. ระหว่างการฝึกปฏิบัติงานที่
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์