งานเสวนาร่วมกระทรวงการต่างประเทศและธนาคารกสิกรไทย "ประสบการณ์การปฏิรูปเศรษฐกิจจีนและโอกาสที่ธุรกิจไทยไม่ควรพลาด" วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรม Landmark
19 Jun 2014
Views 33303
ตอนที่ 1 พัฒนาการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน โดย ศ. ดร. หวัง ต้าซู่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
1. ภูมิหลัง
ก่อนการปฏิรูป จีนเป็นประเทศปิดที่มีระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมการต่อสู้ระหว่างชนชั้น (Class Struggle) และไม่มีกลไกตลาด (ตลาดการเงิน ตลาดแรงงาน ตลาดอสังหาริมทรัพย์)ส่งผลให้จีนเป็นประเทศที่ล้าหลังและยากจน
2. การปฏิรูปเปิดประเทศ
จีนเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศในปี 2520 หลังจากการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 11 โดยการปฏิรูปเปิดประเทศจีนแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่
1) ปี 2521– 2527 “ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนเป็นหลัก การควบคุมตลาดเป็นตัวเสริม”
- รัฐบาลริเริ่มนำ household contract responsibility system [1] มาใช้ในภาคเกษตรกรรม ที่กระจายตัวอยู่ตามเขตชนบทในปี 2522 การนำระบบตลาดเข้ามาใช้ในชนบทส่งผลให้เริ่มมีเกิดวิสาหกิจระดับหมู่บ้านและ เมือง และเกษตรกรมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น โดยไม่ต้องผูกติดกับที่ดิน ทำกินต่อไป
- เปิดประเทศ (open door policy) จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่ง (เมืองเซินเจิ้น เมืองจูไห่ เมืองซ่านโถวของมณฑลกวางตุ้ง และเมืองเซี่ยเหมินของมณฑลฝูเจี้ยน) และส่งเสริมให้บริษัทจีนร่วมทุนกับต่างชาติในพื้นที่ดังกล่าวในปี 2522
2) ปี 2527 – 2535“รัฐควบคุมตลาด ตลาดชี้นำวิสาหกิจ”
- เริ่มปฏิรูปรัฐวิสาหกิจโดยการริเริ่มนโยบาย“เปลี่ยนกำไรให้เป็นภาษี”ใน อดีตรัฐวิสาหกิจจะได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐโดยส่งมอบกำไรทั้งหมดให้แก่ รัฐด้วยเช่นกัน ภายหลังจากการปฏิรูป รัฐบาลจีนได้ยกเว้นการส่งมอบกำไรดังกล่าว และหันมาจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลแทน โดยรัฐวิสาหกิจสามารถนำกำไรที่เหลือหลังจากเสียภาษีไปลงทุนต่อยอดได้ นอกจากนี้ยังได้นำ contract responsibility system ที่ประสบความสำเร็จในภาคเกษตรกรรมมาประยุกต์ใช้กับรัฐวิสาหกิจในภาค อุตสาหกรรมด้วย เพื่อช่วยเสริมสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาผลิตภาพ (productivity) ของรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่
- อนุญาตให้จัดตั้งบริษัทเอกชนที่มีลูกจ้างไม่เกิน 8 คน และให้เกษตรกรสามารถเข้ามาทำงานในเขตเมือง
3) ปี 2535– ปัจจุบัน “การปฏิรูปอย่างรอบด้าน”
- ในปี 2536 รัฐบาลได้อนุญาตการแลกเปลี่ยนเงินหยวนได้อย่างเสรีในการซื้อขายสินค้าและ บริการ (full current account convertibility) แต่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรีในการลงทุน จากนั้นจีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2544
- ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้ามาทำงานในเขตเมือง
- ปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและใหญ่ และแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(privatization)ในปี 2540
- รัฐบาลจีนให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นกับตลาดในฐานะกลไกในการจัดสรรทรัพยากร โดยเอกสารผลลัพธ์การประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนในตอนต้นของการปฏิรูปช่วงที่ 3 ระบุให้ตลาดเป็นกลไกสำคัญ และต่อมา ในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 18 เมื่อปลายปี 2556 ได้เน้นย้ำว่าตลาดให้เป็นกลไกหลัก (decisive role)ในการจัดสรรทรัพยากร
3. การลดลงของบทบาทรัฐวิสาหกิจสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด โดยสามารถสังเกตได้จาก
- สัดส่วนของจำนวนรัฐวิสาหกิจต่อวิสาหกิจทั้งหมดลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 90 ก่อนการปฏิรูป เป็นร้อยละ 40 ในปี 2541 และ ต่ำกว่าร้อยละ 5 ในปัจจุบัน
- สัดส่วนการจ้างงานในรัฐวิสาหกิจต่อการจ้างงานทั้งหมดลดลงอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 60 ในปี 2541เหลือเพียงร้อยละ 20 ในปัจจุบัน
- สัดส่วนการส่งออกโดยรัฐวิสาหกิจลดลงเหลือเพียงร้อยละ 20 อยู่ในระดับเดียวกับบริษัทเอกชนและบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ ในขณะที่บริษัทต่างชาติ (Wholly Foreign-owned company) มีสัดส่วนการส่งออกสูงที่สุดถึงร้อยละ 40 ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 ทรัพย์สิน (Asset) กว่าร้อยละ 50 ของของประเทศยังคงอยู่ในความครอบครองของรัฐวิสาหกิจ โดยลงลดเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 70 ในปี 2541 และ 1 ใน 3 ของมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทั้งหมดก็ยังคงมาจากรัฐวิสาหกิจเช่นกัน
4. เหตุใดจีนจึงประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเปิดประเทศ
1) ความได้เปรียบจากความล้าหลัง (the advantages of backwardness) ก่อนการปฏิรูป
จีนเป็นประเทศที่ยากจนและล้าหลัง ขาดทั้งเงินทุนและเทคโนโลยี อีกทั้งแรงงานส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ต้องพึ่งพิงที่ดินทำกินเป็นหลัก อาจกล่าวได้ว่าจีนในขณะนั้นอยู่ในจุดต่ำสุดของเส้นทางการพัฒนา การปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดประเทศได้นำมาซึ่งเงินทุน ตลาด เทคโนโลยี และเทคนิคการบริหารสมัยใหม่ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาที่จีนขาดแคลนเนื่องจากใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องกว่า 3 ทศวรรษ
2) ปฏิรูปเศรษฐกิจโดยไม่ต้องปฏิรูปการเมืองการปกครองแบบพรรคเดียวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนช่วยให้จีนมีเสถียรภาพทางการเมือง
โดยไม่ต้องแบกรับต้นทุนของระบอบประชาธิปไตย เช่น กระบวนการตัดสินใจที่ล่าช้า ความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย และภาระจากนโยบายที่หวังผลระยะสั้นของนักการเมือง ส่งผลให้จีนสามารถผลักดันการปฏิรูปเปิดประเทศได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่อง
3) การดำเนินการปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป(Gradualism)
- จีนดำเนินการปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดกระแสหลัก Shock therapy ของชาติตะวันตก
โดยจีนเริ่มปฏิรูปภาคเกษตรกรรมก่อนภาคอุตสาหกรรม และปฏิรูปตลาดสินค้า ก่อนตลาดแรงงาน และตลาดการเงิน นอกจากนี้ จีนได้เปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจีนเริ่มเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และต่อมาจึงเปิดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในมณฑลเลียบชายฝั่งตะวันออก มณฑลตอนใน และมณฑลในภาคตะวันตกตามลำดับ
- การปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการแก้ไขปัญหาง่ายไปยาก
และดำเนินโครงการปฏิรูปที่ได้รับความนิยม (welcomed reform) และเป็น pareto improvement (การยกระดับความเป็นอยู่ของคนกลุ่มหนึ่งก่อนโดยไม่ทำให้กลุ่มอื่น ๆ เสียผลประโยชน์) เช่น การปฏิรูปภาคชนบทและภาคเกษตรกรรมเป็นลำดับแรก ได้ช่วยลดแรงเสียดทานจากกลุ่มต่อต้านการปฏิรูป และเมื่อการปฏิรูปในส่วนแรกประสบความสำเร็จ ได้ช่วยสร้างคะแนนนิยมให้กับรัฐบาลและนโยบายการปฏิรูปในรัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนเพิ่มมากขึ้น ทำให้รัฐบาลสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่น ๆ ที่มีความท้าทายมากกว่าได้ง่ายขึ้น
4) การปฏิรูปแบบรางคู่แม้จีนต้องการการปฏิรูปเพื่อเพิ่มบทบาทของตลาด
แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนออกไปได้ทั้งหมด ในทางกลับกัน จีนอนุญาตให้มีระบบการกำหนดราคาแบบรางคู่ (dual track)ประกอบด้วยราคาที่รัฐบาลกำหนดกับราคาตลาด โดยราคาที่รัฐบาลกำหนดจะต่ำกว่าราคาตลาด ส่งผลให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจในการพัฒนาผลิตภาพของตน โดยหากสามารถผลิตได้มากกว่าจำนวนที่ขายให้รัฐ ก็จะสามารถขายส่วนที่เหลือในราคาตลาดและได้รับผลตอบแทนสูง
5. การพัฒนาเขตเมืองการปฏิรูปเปิดประเทศส่งผลให้รายได้ต่อหัวของจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการขยายตัวของเขตเมือง (urbanization rate) โดยในปี 2554 ประชากรกว่าร้อยละ 50.6 ของจีนอาศัยอยู่ในเขตเมือง
บรรยากาศงานเสวนา คลิก
[1]เป็นระบบที่อนุญาตให้เกษตรกรขายผลผลิตทางการเกษตรส่วนที่เกินจากโควต้าที่ต้องส่งให้รัฐสู่ตลาดได้
อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพจาก : กองเอเชียตะวันออก 3 กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ